วิริยะประกันภัย | The Viriyah Insurance Public Company limited

การหยุดใช้รถ/การโอนรถยนต์/การเช่าซื้อรถยนต์

การหยุดใช้รถ

ผู้เอาประกันภัยสามารถแจ้งการหยุดใช้รถยนต์ เพื่อขอรับเบี้ยประกันภัยคืนจากบริษัทผู้ประกันภัยได้ โดยต้องแจ้งล่วงหน้าเพื่อขอหยุดการใช้รถยนต์ (เช่นกรณีต้องเดินทางไปต่างประเทศ เป็นเวลานาน) การคืนเบี้ยประกันภัยให้เฉลี่ยเป็นรายวัน

ห้ามคืนเบี้ยประกันภัยในการหยุดใช้รถในกรณีดังต่อไปนี้ หยุดการใช้รถระหว่างการซ่อมแซม หรือ หยุดการใช้รถยนต์น้อยกว่า 30 วัน

การโอนรถยนต์

เมื่อผู้เอาประกันรถยนต์โอนรถยนต์ให้บุคคลอื่น ให้ถือว่าผู้รับโอนเป็นผู้เอาประกันภัยตามกรมธรรม์นี้ และบริษัท ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบ ตามกรมธรรม์ประกันภัยต่อไปตลอดอายุกรมธรรม์ประกันภัยที่ยังเหลืออยู่ ในกรณี เป็นการทำประกันภัยประเภทระบุชื่อผู้ขับขี่ ผู้เอาประกันภัยจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ขับขี่ให้บริษัทประกันภัยทราบ เพื่อจะได้ทำการปรับปรุงอัตราเบี้ยประกันภัยตามสภาพความเสี่ยงภัยที่เปลี่ยนแปลง มิฉะนั้นผู้เอาประกันภัย อาจจะต้องรับผิดชอบในความเสียหายส่วนแรกเอง ตามเงื่อนไขความคุ้มครองที่ปรากฏในกรมธรรม์

รถยนต์เช่าซื้อรถยนต์

การประกันภัยรถยนต์เช่าซื้อ ให้บริษัทผู้รับประกันภัยแต่ผู้เดียวเท่านั้น การยกผลประโยชน์ตามส่วนได้ส่วนเสีย ให้ผู้ให้เช่าซื้อเป็นผู้เอาประกันภัย แต่ผู้เดียวเท่านั้น การยกผลประโยชน์ตามส่วนได้เสียให้ผู้ให้เช่าซื้อ ให้บริษัท ใช้เอกสารแนบท้าย

ปัจจัยกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย

เบี้ยประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจตามโครงสร้างใหม่ อาศัยปัจจัยต่างๆ ในการคำนวณเบี้ยประกันภัย ดังนี้ 

ลักษณะการใช้รถยนต์
เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยประกันภัย เช่น รถยนต์ที่มีความเสี่ยงภัยน้อยกว่าจะเสียเบี้ยประกันภัยถูกกว่า 

ขนาดรถยนต์
รถขนาดเล็กมีความเสี่ยงภัยน้อยกว่ารถยนต์ขนาดใหญ่เบี้ยประกันภัยจึงต้องต่ำกว่า 

กลุ่มรถยนต์
รถแต่ละยี่ห้อมีราคาอะไหล่และค่าซ่อมแตกต่างกัน จึงได้แบ่งกลุ่มรถยนต์ออกเป็น 5 กลุ่ม โดยอาศัยราคาค่าซ่อมและราคาอะไหล่เป็นตัวกำหนด 

อัตราเบี้ยประกันภัย

อายุรถยนต์
เป็นตัวแปรที่ทำให้ความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้นหรือลดลง 

อายุผู้ขับขี่
ผู้มีอายุในวัยหนุ่มสาวมีความคึกคะนองและมีสถิติเกิด

การระบุชื่อผู้ขับขี่
จะเสียเบี้ยประกันภัยต่ำกว่าไม่ระบุชื่อผู้ขับขี่ ถ้าทำประกันภัยในจำนวนเงินเอาประกันสูง ย่อมเสียเบี้ยประกันภัยสูงกว่าจำนวนเงินเอาประกันภัยที่ต่ำกว่า 

อุปกรณ์พิเศษ
เช่น อุปกรณ์ดัมพ์ อุปกรณ์ไฮดรอลิค เป็นต้น ทำให้ความเสี่ยงภัยเพิ่มขึ้น แหล่งที่มาของข้อมูล : กรมการประกันภัย

ความเสียหายส่วนแรก

ข้อกำหนดเกี่ยวกับความเสียหายส่วนแรก มีดังต่อไปนี้

ก่อนอื่นต้องขออธิบายความหมายของคำว่า “ความเสียหายส่วนแรก” ให้ทราบก่อน ตามคำจำกัดความในกรมธรรม์ประกันภัย รถยนต์แบบใหม่ ให้ความหมายความเสียหายส่วนแรกไว้ว่า ความเสียหายส่วนแรก หมายถึงจำนวนเงินค่าความเสียหาย ในแต่ละครั้งที่ผู้เอาประกันภัยตกลงรับ ผิดชอบเองในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นจากอุบัติเหตุจากรถ

ความเสียหายส่วนแรกโดยสมัครใจ

สำหรับเจ้าของรถที่มีความเชื่อมั่นในตนเอง และ มีความระมัดระวังในการขับรถอาจเลือกรับผิดชอบความเสียหายส่วนแรกเอง ซึ่งสามารถเลือกได้ 2 ประเภทความคุ้มครอง คือ คุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถยนต์ ( รถเราเอง) และคุ้มครองความเสียหาย ต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก (รถหรือทรัพย์ สินของบุคคลภายนอก) โดยบริษัทประกันภัยจะลดเบี้ยประกันภัย ให้เป็นจำนวนเงิน ตามเงื่อนไขในสัญญา

ความเสียหายส่วนแรกในกรณีผิดสัญญา
  • กรณีกรมธรรม์แบบระบุชื่อ แต่บุคคลอื่นขับขี่และเป็นฝ่ายต้องรับผิดชอบ ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย ส่วนแรกต่อความเสียหายดังนี้
    • 6,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อตัวรถยนต์คันเอาประกันภัย
    • 2,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก
  • กรณีใช้รถผิดประเภท เช่น นำรถส่วนบุคคลไปรับจ้าง ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเอง ดังนี้ 2,000 บาทแรก สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก

การบอกเลิกกรมธรรม์/การสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์

การบอกเลิกกรมธรรม์

ผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัยสามารถบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้

  • กรณีบริษัทบอกเลิก ต้องส่งหนังสือบอกกล่าวไม่น้อยกว่า 15 วัน ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้เอาประกันภัย ตามที่อยู่ครั้งสุดท้ายที่แจ้งให้บริษัท ทราบ และบริษัทจะคืนเบี้ยประกันให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยหักเบี้ย ประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่กรมธรรม์ใช้บังคับมาแล้วออกตามส่วน
  • กรณีผู้เอาประกันบอกเลิก ให้แจ้งให้บริษัททราบเป็นลายลักษณ์อักษรมีสิทธิได้รับเบี้ยประกันภัยคืนตามอัตรา การคืนเบี้ยประกันภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์
  • กรณีเป็นการประกันภัยกลุ่มและมีการลดจำนวนรถยนต์ ให้คืนเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยรายวัน
การสิ้นผลบังคับของกรมธรรม์
  • ณ วันเวลาที่ระบุไว้ในตาราง
  • เมื่อผู้เอาประกันภัยไม่ชำระเบี้ยประกันภายในกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่วันที่กรมธรรม์เริ่มมีผลบังคับ ให้ถือว่าผู้เอาประกันภัยไม่ประสงค์จะเอาประกันภัยอีกต่อไป มีการบอกเลิกกรมธรรม์ โดยผู้เอาประกันภัย หรือบริษัทประกันภัยเป็นฝ่ายบอกเลิกก็ได้

ทำอย่างไรเมื่อรถหาย

ขอแนะนำข้อควรปฏิบัติเหตุฉุกเฉินเมื่อรถหายดังนี้
 
หากเห็นคนร้ายกำลังลักรถเรา เราจะทำอย่างไร ถ้าบังเอิญเป็นโชคของเรา ที่เราเห็นในขณะที่คนร้าย กำลังลักรถเรา เราควรปฏิบัติดังนี้
 
(ก) เรียกให้คนช่วยเหลือ การตะโกนให้คนช่วยเหลือ เช่น ร้องว่า "ขโมย ช่วยด้วย! ขโมย" ตามปกติคนร้ายเมื่อ ได้ยินเสียคนร้อง เช่นนั้น ส่วนมากมักจะวิ่งหนีไป
(ข) เรียกให้ตำรวจช่วยจับกุม หากบริเวณนั้นมีตำรวจ เราก็ควรตะโกน หรือรีบแจ้งให้ตำรวจจับกุมได้ทันที แต่ถ้าเรา เห็นคนร้าย โดยที่คนร้ายไม่เห็นเรา เราก็ควรรีบโทรศัพท์แจ้งตำรวจ ให้รีบมาจับกุมให้ทันท่วงที แต่ถ้าเห็นว่าไม่ทันการณ์ เพราะกว่าที่ตำรวจจะมาถึงคนร้ายก็เอารถไปได้แล้ว เราควรใช้สิทธิป้องกันทรัพย์สินของเราดังจะกล่าวต่อไป
(ค) ใช้สิทธิป้องกันทรัพย์ของเรา ความจริงกฎหมายให้อำนาจเรา มีสิทธิที่จะป้องกันชีวิตทรัพย์สินของเราได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68 บัญญัติว่า " ผู้ใดจำต้องกระทำการใด เพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้น ภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควารแก่เหตุ การกะทำนั้น เป็นการป้องกัน โดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด" หมายความว่า เรามีสิทธิจะป้องกันสิทธิในชีวิต ร่างกาย และสิทธิในทรัพย์สินของเรา เราก็มีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์ของเราได้ เช่น คนร้ายเข้าปล้นบ้านเรา เข้าลักทรัพย์เรา เราก็มีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของเราได้ มีข้อแม้ที่สำคัญอยู่ว่า เราต้องกระทำ ไปโดยพอสมควรแก่เหตุ แต่ถ้าเกินกว่าเหตุ เราก็ผิดกฎหมาย ตัวอย่างเช่น เขาเพียงแต่จะต่อยเรา เรากลับใช้ปืนยิงเขา อย่างนี้ เรียกว่า เกินกว่าเหตุผิดกฎหมาย แต่ถ้าเขาต่อยเรา เราต่อยเขา อย่างนี้เรียกว่า พอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันตัว ไม่ผิด กฎหมาย
การป้องกันทรัพย์สินก็เหมือนกัน จะต้องกระทำโดยพอสมควรแก่เหตุ เช่น คนร้ายมีแต่มือเปล่าๆ ไม่มีอาวุธอะไร เข้างัดรถเรา เรายิงเขาตายเลย อย่างนี้เรียกว่าได้ว่าเกินกว่าเหตุ ไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้าคนร้ายมีอาวุธปืน เราเตือนแล้วกลับจะหันมายิงเรา เรายิงคนร้ายตาย อย่างนี้เป็นการป้องกัน ต้องถือว่ากระทำไปพอสมควรแก่เหตุไม่ผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้น เมื่อเราเห็นคนร้ายกำลังลักรถเรา หรือปล้นรถเรา เราก็มีสิทธิที่จะใช้อาวุธ ป้องกันของของเราได้ แต่ต้องใช้วิธีที่ พอสมควรแก่เหตุ มิฉะนั้นจะเป็นการผิดกฎหมาย อะไรเกินกว่าเหตุหรือไม่ก็ต้องดูกันเป็นเรื่องๆ ไป อะไรที่ควรจะป้องกัน หรือไม่อยู่ที่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าเรา
 
ต้องสอบถามบุคคลที่อยู่ใกล้รถเพื่อทราบเบาะแสของคนร้าย

ตามปกติรถที่เราจอดอยู่ หากไม่เป็นที่ลับตาคนเกินไป ส่วนมากคนที่อยู่บริเวณใกล้ที่จอดรถอยู่มักจะมีคนรู้เห็น สิ่งแรก ต้องตั้งสติให้ดีเสียก่อนเดี๋ยวเป็นลมเป็นแล้งไปก่อนที่จะทันแจ้งความ จากนั้นเราก็รีบสอบถามคนที่อยู่บริเวณนั้นให้ได้ความว่า เห็นคนร้ายรูปร่าง ลักษณะ ตำหนิ รูปพรรณมาเอารถเราไปอย่างไรหรือไม่ และรถนั้นคนร้ายได้ขับไปในทางใด นานเท่าไรแล้ว เมื่อได้ข้อมูลแล้วให้รีบจดชื่อ ที่อยู่ของพยานคนที่บอกเราไว้ให้ดี เพราะเขาจะเป็นพยานสำคัญของเราเมื่อคดีไปถึงตำรวจ อัยการและศาล เมื่อได้ข้อมูลหรือไม่ได้ข้อมูลก็ต้องรีบดำเนินการในข้อต่อไป

แจ้งความต่อตำรวจที่ใกล้ที่สุดด้วยวาจาโดยเร็วที่สุด

รถหายนั้นถ้าแจ้งตำรวจให้เร็วที่สุดเพียงใด โอกาสที่จะได้รถคืนก็มีมากที่สุดเท่านั้น เพราะตำรวจมีโอกาส ที่จะสกัดจับ คนร้ายได้รวดเร็วและทันท่วงที การแจ้งตำรวจที่ใกล้ที่สุดนั้น หากเราเห็นตำรวจอยู่บริเวณนั้น หรือที่ใกล้ที่สุดมีตำรวจอยู่ เราก็จะต้องรีบวิ่ง ไปบอก ตำรวจทันที เพราะการที่เราบอกตำรวจด้วยวาจานั้น บางทีเร็วกว่าที่จะโทรศัพท์แจ้งตำรวจอีก และเมื่อตำรวจรับแจ้งแล้ว เขาก็สามารถติดต่อ ศูนย์ปราบปรามโจรกรรมรถได้โดยเร็วกว่าเรา

โทรศัพท์แจ้งตำรวจ
ทางกรมตำรวจได้ตั้งศูนย์ป้องกัน และปราบปรามการโจรกรรมรถขึ้นในกรมตำรวจแล้ว การโทรศัพท์แจ้งความนั้น ถ้าเราจะโทรศัพท์ไปยังสถานีตำรวจ บางทีเราก็หาเบอร์โทรศัพท์สถานีตำรวจไม่พบ หรือโทรศัพท์ บางทีกว่าจะโทรศัพท์ ได้ผลก็กินเวลาถึงครึ่งชั่วโมงก็มี กว่าตำรวจตามสถานีตำรวจจะรู้ คนร้ายก็พารถเราหายไปเป็นชั่วโมงๆ แล้ว เพราะฉะนั้น เพื่อความรวดเร็วฉับพลัน ถ้าในกรุงเทพฯ ควรโทรโดยตรงดังต่อไปนี้
  1. ในกรุงเทพฯ โทรไปยังศูนย์ใหญ่เลย เรียกว่า "ศูนย์ผ่านฟ้า 191" จำไว้ไให้ดีนะครับ "191 ผ่านฟ้า" จดไว้เลยก็ได้กันลืม หรือโทร. 02-246-1312-8 ( บางทีโทร 191 แล้วไม่ติด)
  2. ถ้ารถหายในเขต บกน.เหนือ คือ กองบังคับการตำรวจนครบาลเหนือ ก็ให้โทรไปยัง "ศูนย์รามา" โทร. 02-245-0713
  3. ถ้ารถหายในเขต บกน.ใต้ คือ กองบังคับการตำรวนครบาลใต้ ให้โทร. "ศูนย์นารายณ์" โทร.02-234-5678
  4.  ถ้ารถหายในเขตธนบุรี ให้โทรไปยัง "ศูนย์ บกน.ธน." คือ กองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี โทร. 02-413-1653-6
  5. ศูนย์ป้องกันปราบปรามโจรกรรมรถยนต์ และจักรยานยนต์กองบัญชาการตำรวจนครบาล (ศปร.น.) โทร. 02-245-6951, 02-245-9059

ส่วนรถที่อยู่ในต่างจังหวัด ท่านก็รีบติดต่อโทรศัพท์ไปยัง สถานีตำรวจและกองกำกับการต่างๆ และหากจะโทร ประสานงานมายังศูนย์ที่กรุงเทพฯ - ธนบุรี ดังกล่าวด้วยก็จะเป็นการดี ตำรวจเขาจะได้ประสานงานกับ ท้องที่ที่เกิดเหตุ ได้ทันการณ์

ต้องบอกรายละเอียดเกี่ยวกับรถให้ถูกต้องและรวดเร็ว

ดังที่ได้เคยบอกมาแล้วว่า รายละเอียดตำหนิ รูปพรรณเกี่ยวกับรถของเรานั้น เราจะต้องจดไว้ประจำตัวตลอดเวลา เพื่อนำออกมาใช้ในยามฉุกเฉิน สมมุติว่าเราบันทึกไว้ในสมุดส่วนตัวของเราว่า " รถโตโยต้า โคโรน่า สีขาว รุ่น อาร์ที ทะเบียน 9 จ-777 กทม. หมายเลขเครื่อง 6 ดี-326782 หมายเลขตัวถึง 3 เอ็ม-4215723-64 ตำหนิกันชนท้ายด้านขวาบุบ กระโปรง หน้าด้านซ้ายมีรอยขีดข่วน ยาว 2 เซนติเมตร ผ้าบุหลังคารถตรงหัวคนขับมีรอยถูกกรีด ที่ป้ายวงกลมมีรอยเปื้อน น้ำหมึก 2 จุด..." บันทึกฉบับนี้นักเลงรถทั้งหลายควรจะบันทึกติดตัวไว้ตลอดเวลา สามารถเอาออกมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ทันท่วงที

พอรถเราหาย แทนที่เราจะมามัวนึกกว่ารถเรามีตำหนิที่ไหน หมายเลขเครื่องเท่าไร หมายเลขตัวถังเท่าไร ก็พอดีคนร้ายเอารถหลบหนีไปแล้ว เพราะฉะนั้นพอเรารู้ว่ารถหายปั๊บ เราก็ควักเอาสมุดบันทึกรายละเอียดรถของเราออกมา ทันที พร้อมกับอ่านข้อความที่เราจดไว้ให้ตำรวจทันที ตำรวจจะจดรายละเอียดของข้อมูลได้ทันควัน แล้วรีบแจ้งข้อมูล ให้ตำรวจในเครือข่ายดักจับคนร้ายอย่างรวดเร็ว วิธีนี้เป็นวิธีที่ช่วยตำรวจได้ดีที่สุด เพราะแม้ไอ้โจรมันจะเปลี่ยนป้ายทะเบียน ตำหนิรถ และเลขเครื่องรถ ก็ยังมีรายละเอียดอื่นๆ ยากที่โจรจะหลุดมือไปได้ถ้าตำรวจค้นรถให้เรา

ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ. 

การไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนั้น จะต้องไปแจ้งความที่สถานีตำรวจที่รถหายในเขตอำนาจของสถานีตำรวจนั้นๆ และจะต้องนำหลักฐานดังต่อนี้ไปด้วย

  1. บัตรประจำตัว
  2. ใบสำมะโนครัว (ทะเบียนบ้าน)
  3. บัตรประจำตัวข้าราชการ
  4. หนังสือเดินทาง พาสปอร์ตสำหรับชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาภายในประเทศ
  5. ถ้าไปแจ้งความแทนคนอื่นที่เป็นเจ้าของรถ ให้มีใบมอบอำนาจเจ้าของรถให้ไปแจ้งความด้วย
  6. ถ้าเป็นผู้แทนผู้เยาว์หรือไร้ความสามารถ ก็ให้เตรียมใบสำคัญ แสดงการเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ หรือใบสำคัญแสงการเป็นผู้อนุบาล ของผู้ไร้ความสามารถ ตามคำสั่งศาลติดตัวไปด้วย
  7. ใบคู่มือประจำรถ เอกสารประจำรถ ใบทะเบียนรถ
  8. หากเป็นรถผ่อนส่ง ก็ให้นำสัญญาเช่าซื้อติดตัวไปด้วย
  9. ให้ภาพถ่ายรถให้แก่ตำรวจไว้ ถ้ามีภาพถ่ายรถของเราหลายๆ ภาพเป็นภาพสีให้กับตำรวจไว้จะเป็นการดีมาก เพราะภาพถ่ายย่อมมีรายละเอียดมากกว่าคำอธิบายตั้งหลายเท่า การแจ้งความนั้นควรที่จะให้รายละเอียดอย่างดีที่สุดแก่ตำรวจ และอย่าลืมว่าหากท่านได้จดชื่อ- ที่อยู่ของพยาน ที่รู้เห็นเหตุการณ์ ก็ให้รายละเอียดนั้นแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
เมื่อแจ้งความแล้ว ควรขอคัดสำเนาการแจ้งความจากตำรวจไว้เป็นหลักฐาน
ตามธรรมดาผู้แจ้งความย่อมมีสิทธิที่จะขอคัดข้อความไว้เลย เพื่อที่จะได้เก็บรวบรวมไว้เป็หลักฐาน ในกรณีที่มีการยึด รถคืนได้ หรือเราไปพบรถของเราที่ใด เราจะได้นำสำเนาแจ้งความนั้นให้ตำรวจในเขตที่ยึดรถได้ดูเป็นหลักฐาน จะได้สะดวกในการรับคืนในภายหลัง

 

การจัดการเรียกร้องเมื่อเกิดความเสียหาย

ความคุ้มครองของบริษัทจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เอาประกันภัย หรือผู้ขับขี่ดำเนินการโดยสุจริต

การจัดการเรียกร้องเมื่อเกิดความเสียหาย

เมื่อมีความเสียหาย หรือความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่เกิดขึ้น ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ขับจะต้องแจ้งให้ บริษัทผู้รับประกันภัยทราบโดยไม่ชักช้าและดำเนินการอันจำเป็นเพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมาย บริษัทมีสิทธิเข้า ดำเนินการในนามของผู้เอาประกันภัยเกี่ยวกับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้ หากความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นอยู่ภายใต้ความ คุ้มครองในกรมธรรม์ ความคุ้มครองของบริษัทจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เอาประกันภัย หรือผู้ขับขี่ดำเนินการโดยสุจริต

เมื่อเกิดเหตุคุณจะทำอย่างไร

แจ้งอุบัติเหตุทันทีต่อบริษัทประกันภัย

  • เมื่อเจ้าหน้าที่บริษัทดำเนินการสำรวจความเสียหายแล้ว จะให้ใบรับแจ้งเหตุไว้
  • นำเอกสารใบรับแจ้งเหตุไปให้บริษัทประกันภัยคุมราคาทรัพย์สินที่เสียหายก่อนทำการซ่อม
  • นำรถเข้าซ่อมกับอู่ที่บริษัทเสนอ หรืออู่ที่ท่านเลือก (กรณีตกลงราคากันได้) หรืออู่กลางกรมการประกันภัย
  • เมื่อรถซ่อมเสร็จ ควรสำรวจความเรียบร้อยก่อนรับกลับคืน และลงนามในเอกสารรับรถตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง

เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนต้องทำอย่างไร

เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชน ไม่ว่าเราจะเป็นคนขับ ผู้โดยสารหรือผู้เห็นเหตุการณ์ เราควรปฎิบัติอย่างไร
 
ถ้าเป็นผู้เห็นเหตุการณ์
ควรเข้าช่วยเหลือคนป่วยเจ็บตามสมควร และเราจะต้องแสดงตัวเป็นพลเมืองดี โดยยินดีที่จะเป็นพยานในคดีให้ สมมุติว่าเราเห็นรถคันหนึ่งชนคนแล้วหนี สิ่งที่เราควรช่วยหลือจับกุมคนที่ทำผิดได้ก็คือ พยายามจดทะเบียนรถ ชื่อยี่ห้อ สีรถที่ชนไว้ได้แล้วรีบแจ้งให้ตำรวจทราบเพื่อติดตามจับกุมต่อไป มีพลเมืองดีบางท่านถึงกับขับรถตามจับคนขับ ที่ชน คนแล้วหนีได้ คนประเภทนี้ควรได้รับการยกย่องว่าเป็นคนดีมีประโยชน์ต่อสังคม
 
ถ้าท่านเป็นคนเจ็บเพราะรถชน
ท่านจะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 1. สิ่งแรกคือท่านจะต้องขอร้องให้คนอื่น หรือตำรวจนำตัวส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว ที่สุดเพื่อช่วยชีวิตเขาไว้ก่อน ส่วนเรื่องคดีนั้นเอาไว้พิจารณาภายหลัง แต่ถ้าเจ็บเล็กน้อยพอยอมความได้ก็ยอมเสีย เพื่อมิให้เสียเวลาโดยใช่เหตุ แต่จะต้อง พยายามขอชื่อหรือจำทะเบียนรถคันที่ชนเราไว้ให้ได้ เพราะถ้าหากผู้ขับขี่เบี้ยวเราภายหลัง เราจะได้จัดการเรียกค่าเสียหายได้ตามกฎหมาย มิฉะนั้นแล้วจะไม่รู้ว่าจะไปฟ้องร้องเขาจากใคร ที่ไหน
 
ถ้าท่านเป็นคนขับ
ถ้าท่านเป็นคนขับรถชนกัน สิ่งแรกที่ต้องทำก็คือ อย่าหนีเป็นอันขาด เพราะความผิดฐานขับรถประมาทนั้น ไม่ใช่ เรื่องเจตนา ผู้กระทำผิดไม่ใช่อาชญากร โทษก็ไม่มากมายอะไร ควรจะอยู่เพื่อต่อสู้กับความจริง มิฉะนั้นท่านจะต้องหลบหนี นานถึง 15 ปี ถ้าท่านขับรถชนคนตาย แต่ถ้าท่านมอบตัวสู้คดี บางทีท่านก็ไม่มีความผิด หรือมีความผิดศาลก็ปรานีลดโทษให้ ถ้าท่านเป็นคนดีมีน้ำใจ
 
หน้าที่ของคนขับรถเมื่อเกิดรถชนกันนั้น กฎหมายกำหนดไว้ดังนี้
  • ต้องหยุดรถและให้ความช่วยเหลือตามสมควร เช่น ขับรถชนคนก็ต้องหยุดรถ ช่วยเหลือคนที่ถูกชน นำส่งโรงพยาบาลเท่าที่จะทำได้
  • ต้องไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ใกล้เคียงทันที คือต้องรีบไปแจ้งตำรวจที่ใกล้เคียงทันที แต่ต้องบอกตำรวจด้วยว่าเราเป็นคนขับรถอะไร
  • แจ้งชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่หมายเลขทะเบียนรถ แก่ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
  • ถ้าผู้ขับขี่หลบหนีหรือไม่แสดงตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กฎหมายให้สันนิฐานว่าเป็นผู้กระทำผิด และตำรวจมีอำนาจยึดรถที่ขับไว้จนกว่าจะได้ตัวผู้ขับขี่หรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด
  • ถ้าคนขับคนใดไม่ปฏิบัติตามข้อ ( 1), (2) และ (3) แล้วจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท แต่ถ้าคนที่ถูกชนบาดเจ็บสาหัสหรือตาย ต้องจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท
ถ้ารถท่านมีประกันท่านตัองรีบติดต่อกับบริษัทประกันของท่านทันที
เพราะบริษัทประกันเขาจะมีเจ้าหน้าที่มาตามที่เกิดเหตุ พร้อมทำแผนที่เกิดเหตุไว้พร้อมมูลเพื่อเอาไว้ต่อสู้คดี
 
ถ้ามีกล้องถ่ายรูปหรือหากล้องถ่ายรูปใกล้ที่เกิดเหตุได้ต้องรีบถ่ายรูปรถ และที่เกิดเหตุไว้ให้พร้อม
เพื่อจะได้เก็บไว้เป็นหลักฐานการต่อสู้คดีต่อไป และหากมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิปอเต็กตึ้งหรือมูลนิธิร่วมกตัญญูถ่ายภาพศพหรือที่เกิดเหตุไว้ ก็ให้ติดต่อขอภาพที่ถ่ายเก็บไว้ให้ได้ เพราะจะเป็นประโยชน์แก่รูปคดีในภายหลัง
 
ควรช่วยเหลือคนเจ็บหรือค่าทำศพของผู้เสียชีวิต
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ คนขับรถ มักไม่ค่อยเห็นประโยชน์ ของการช่วยเหลือเหล่านี้ ความจริงเมื่อเราขับรถชน คนตาย บาดเจ็บ หรือการขับรถโดยประมาทนั้น เรามีความผิดทั้งทางกฎหมายแพ่ง และอาญา
  • ทางอาญา เราอาจจะต้องรับโทษติดคุกติดตะราง
  • ทางแพ่ง เราจะต้องชดใช้ค่าเสียหาย ค่าบาดเจ็บ ค่าทำศพให้กับเขาอีก คือติดคุกแล้วยังจะต้องเสียเงินให้กับ ฝ่ายคนเจ็บ คนตายเขาอีก ทีนี้ถ้าหากเราช่วยเหลือคนเจ็บ หรือใช้ค่าทำศพคนตายแล้ว มีผลดียังไง ตอบได้ว่า มีผลดีมาก ยกตัวอย่าง เช่น
    • เราขับรถชนคนบาดเจ็บไปโรงพยาบาล ต่อมาอัยการฟ้องเราต่อศาล เราก็แถลงต่อศาลว่าเราช่วยเหลือคนเจ็บ ส่งโรงพยาบาล ส่วนมาก ศาลจะเห็นว่า เราเป็นคนดีมีน้ำใจ ศาลก็อาจจะรออาญาให้เราโดยไม่จำคุกเรา แต่ถ้าเราชนแล้วหนี ส่วนมาก ศาลมักจะจำคุกเราเลย เพราะเห็นว่าเราเป็นคนแล้งน้ำใจ
    • การตกลงใช้ค่าเสียหายให้คนเจ็บก็มีประโยชน์มากยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราไม่พยายามตกลงใช้ค่าเสียหายให้กับคนเจ็บ ตำรวจเขาจะมีระเบียบไว้ว่า ไม่ให้คืนรถของกลางให้แก่ผู้ต้องหา จนกว่า ผู้ต้องหา จะพยายาม ตกลงกับฝ่ายผู้เสียหาย และถ้าหาก เราชดใช้ค่าเสียหาย จ่ายค่าทำศพให้เขา คดีแพ่งก็ระงับ เพราะถือว่า ยอมความคดีแพ่งกันแล้ว จะฟ้องเรียกค่าเสียหายเราในทางแพ่งไม่ได้อีกแล้ว และถ้าเราถูกฟ้อง คดีอาญาต่อศาล ผู้เสียหาย จะมาแถลงต่อศาลว่า เราได้ชดใช้ค่าเสียหายให้เขาแล้ว ส่วนมากแล้ว ศาลจะปรานีจำเลย โดยตัดสินให้รออาญาแก่จำเลย เห็นหรือยังว่า การช่วยเหลือคนเจ็บ และการมีน้ำใจนั้นดีอย่างไร